วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

ซักซ้อมการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงระหว่าง ป.ป.ช. กับ ตร.

หนังสือซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงระหว่าง ป.ป.ช. กับ ตร.
ตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช.ที่ ปช 0012/806 ลง 24 ส.ค.2547  (ย่อ)
              1.  เมื่อมีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อ พงส. ให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 89 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พงส.ผู้รับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงแห่งคดี และให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นั้น ก่อนที่ พงส. จะส่งบันทึกรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษของผู้เสียหายหรือผู้กล่าวโทษไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการตามมาตรา 89  ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นให้ได้ข้อเท็จจริงก่อน
              2.  เรื่องดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
                    2.1  เรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเกิน 2 ปี นับถึงวันรับคำร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อ พงส. (ม.84 , ม.88)
                    2.2  เรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นลูกจ้างชั่วคราวหรือลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (ยกเว้นลูกจ้างขององค์การหรือหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502) เนื่องจากลูกจ้างดังกล่าวมิได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ดังนั้น การกระทำผิดจึงเป็นเพียงผิดอาญาทั่วไป มิใช่ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เว้นแต่ ลูกจ้างของส่วนราชการดังกล่าวได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 เป็นต้น
                    2.3  เรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งแม้เจ้าอาวาสเป็นผู้ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย การใช้อำนาจทางการปกครองดังกล่าวมิได้ใช้กับหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ เจ้าอาวาสจึงไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
                    2.4  เรื่องที่กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านรับรองบุคคลผู้ขอมีบัตรประจำตัวประชาชนในฐานะบุคคลผู้น่าเชื่อถืออันเป็นเท็จ ไม่เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เนื่องจากกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านไม่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเกี่ยวกับการทำบัตรประชาชนตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526
                    2.5  เรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหามีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการชุมชนเมือง เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่เพียงกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์หรือวิธีการเกี่ยวกับการบริหารกองทุน การให้สมาชิกกู้ยืมเงิน อำนาจหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นการใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย

รวมกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

พระราชบัญญัติ
-  พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.๒๕๕๙
-  แก้คําผิด พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ 
-  พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.๒๕๕๙
-  พระราชบัญญัติกําหนดวันเปิดทําการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พ.ศ.๒๕๕๙
-  พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหาร

ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
-  ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการตรวจรับคํากล่าวหา การแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน พ.ศ.๒๕๖๐
-  ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน พ.ศ. ๒๕๕๙
-  ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด พ.ศ.๒๕๕๕

ระเบียบอื่น ๆ 

ข้อบังคับ
-  ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.๒๕๕๙

ประกาศ
-  ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา
-  ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา (ฉบับที่ ๒)

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๔ พ.ค.๒๕๔๖

ระเบียบ ตร. เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วย
การป้องกันและปราบปรามการทุจริต
พ.ศ.2546
……………………………….
                        ตามคำสั่ง กรมตำรวจ ที่ 9/2498 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2498 ให้ใช้ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2498 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2498 เรื่อง วางระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีไว้เป็นแนวทางปฏิบัติแล้ว นั้น
                        เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 อันเนื่องมาจากได้กระทำการตาม มาตรา 83 ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ เพื่อจะดำเนินการตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ในการนี้หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมิใช่กรณีตามมาตรา 88 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป” โดยกฎหมายดังกล่าวยังมิได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการดำเนินการของพนักงานสอบสวนไว้ จึงสมควรวางหลักเกณฑ์การปฏิบัติในเรื่องนี้ไว้เพื่อให้พนักงานสอบสวนสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
                        ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 แห่งข้อบังคับกระทรวงหมาดไทย ที่ 4/2499 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2499 ประกอบกับมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ  กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2541 ที่ให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยกเลิก แก้ไข เพิ่มเติมประมวลระเบียบการตำรวจ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับคดีและในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับคดี จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
                        ข้อ 1 ให้เพิ่มความที่แนบท้ายระเบียบนี้เป็น บทที่ 24 ลักษณะ 18 แห่งประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี
                        ข้อ 2 ให้ใช้ระเบียบนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
                                                        ประกาศ  ณ  วันที่  14  พฤษภาคม พ.ศ.2546
                                                                         พลตำรวจเอก    สันต์  ศรุตานนท์
                                                                                                ( สันต์  ศรุตานนท์ )
                                                                                          ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ      

ลักษณะ 18
กรณีบางเรื่องที่มีวิธีปฏิบัติเป็นพิเศษ
บทที่ 24
แนวทางการปฏิบัติในการดำเนินคดีความผิดตามกฎหมาย
ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
…………………………….
                        เพื่อให้การปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงวางระเบียบแนวทางการปฏิบัติไว้ดังต่อไปนี้
                        ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2546”
                        ข้อ 2. บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

คณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ

              กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติในการประชุม "เห็นชอบ" ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า ข้าราชการตำรวจผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ มูลค่าหลายล้านบาท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งในหน้าที่ราชการ  คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา สั่งลงโทษไล่ออก หรือปลดออก โดยให้ถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๘๐ (๔) โดยได้ส่งเรื่องมาเพื่อให้พิจารณาโทษทางวินัยข้าราชการตำรวจแล้ว การดำเนินการทางวินัยจึงอยู่ในอำนาจของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ กล่าวคือ ระดับจังหวัด ได้แก่ ผบก. ตามมาตรา ๗๒ (๔) และมาตรา ๙๐ แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗  จึงมีคำถามว่า ผู้บังคับบัญชาต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการผู้นั้นอีกหรือไม่
              ข้อกฎหมาย
              พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒
              มาตรา ๘๐ “ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการดังต่อไปนี้ ....
                          (๔)  ในกรณีที่ผู้กล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ไม่ใช่บุคคลตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้ประธานกรรมการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และให้ประธานกรรมการแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาสั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออก โดยให้ถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ....”
               มาตรา ๙๑ “เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า ข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป ข้อกล่าวหาใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลความผิด ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
                          (๑)  ถ้ามีมูลความผิดทางวินัย ให้ดำเนินการตามมาตรา ๙๒
                          (๒)  ถ้ามีมูลความผิดทางอาญา ให้ดำเนินการตามมาตรา ๙๗”
               มาตรา ๙๒ “ในกรณีมีมูลความผิดทางวินัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้ว มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดได้กระทำความผิดวินัย ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณี”
              คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.๑๐๓๗/๒๕๕๘ ลง ๒๗ ส.ค.๒๕๕๘  วินิจฉัยว่า
              “ข้อกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจไต่สวนและพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หมายถึงเฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เท่านั้น  โดยความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ถือเป็นมูลความผิดทางวินัย  ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ ๒ หมวด ๒  และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เป็นมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ ๓ หมวด ๒  ส่วนความผิดอื่นนอกจากสามกรณีดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวน  สำหรับความผิดทางวินัยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจในการไต่สวนและมีความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยได้เฉพาะความผิดทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่  ส่วนความผิดทางวินัยอื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนและมีความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยอีกและจะถือเอารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ ไม่ได้”
              ข้อพิจารณา
              ในเรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติว่า ข้าราชการตำรวจผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาสั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออก โดยให้ถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๘๐ (๔) ประกอบกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.๑๐๓๗/๒๕๕๘ วินิจฉัยว่า ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ถือเป็นมูลความผิดทางวินัย ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนและมีความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ดังนั้น ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่จึงถือเอารายงานการไต่สวนและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณีตามมาตรา ๙๑ (๑) และมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒
               เห็นว่า  ผบก.ที่เป็นผู้บังคับบัญชาในระดับจังหวัด มีอำนาจพิจารณาสั่งลงโทษ หรือตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเสนอเพื่อสั่งลงโทษ ปลดออก หรือไล่ออก ข้าราชการตำรวจที่กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษต่ำกว่าปลดออก ตามมาตรา ๗๒ (๔) และมาตรา ๙๐ แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ และกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๔๗