หนังสือซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงระหว่าง ป.ป.ช. กับ ตร.
ตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช.ที่ ปช 0012/806 ลง 24 ส.ค.2547 (ย่อ)
1. เมื่อมีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อ พงส. ให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 89 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พงส.ผู้รับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงแห่งคดี และให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นั้น ก่อนที่ พงส. จะส่งบันทึกรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษของผู้เสียหายหรือผู้กล่าวโทษไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการตามมาตรา 89 ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นให้ได้ข้อเท็จจริงก่อน2. เรื่องดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
2.1 เรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเกิน 2 ปี นับถึงวันรับคำร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อ พงส. (ม.84 , ม.88)
2.2 เรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นลูกจ้างชั่วคราวหรือลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (ยกเว้นลูกจ้างขององค์การหรือหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502) เนื่องจากลูกจ้างดังกล่าวมิได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ดังนั้น การกระทำผิดจึงเป็นเพียงผิดอาญาทั่วไป มิใช่ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เว้นแต่ ลูกจ้างของส่วนราชการดังกล่าวได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 เป็นต้น
2.3 เรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งแม้เจ้าอาวาสเป็นผู้ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย การใช้อำนาจทางการปกครองดังกล่าวมิได้ใช้กับหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ เจ้าอาวาสจึงไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
2.4 เรื่องที่กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านรับรองบุคคลผู้ขอมีบัตรประจำตัวประชาชนในฐานะบุคคลผู้น่าเชื่อถืออันเป็นเท็จ ไม่เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เนื่องจากกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านไม่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเกี่ยวกับการทำบัตรประชาชนตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526
2.5 เรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหามีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการชุมชนเมือง เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่เพียงกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์หรือวิธีการเกี่ยวกับการบริหารกองทุน การให้สมาชิกกู้ยืมเงิน อำนาจหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นการใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย