วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

คณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ

              กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติในการประชุม "เห็นชอบ" ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า ข้าราชการตำรวจผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ มูลค่าหลายล้านบาท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งในหน้าที่ราชการ  คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา สั่งลงโทษไล่ออก หรือปลดออก โดยให้ถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๘๐ (๔) โดยได้ส่งเรื่องมาเพื่อให้พิจารณาโทษทางวินัยข้าราชการตำรวจแล้ว การดำเนินการทางวินัยจึงอยู่ในอำนาจของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ กล่าวคือ ระดับจังหวัด ได้แก่ ผบก. ตามมาตรา ๗๒ (๔) และมาตรา ๙๐ แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗  จึงมีคำถามว่า ผู้บังคับบัญชาต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการผู้นั้นอีกหรือไม่
              ข้อกฎหมาย
              พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒
              มาตรา ๘๐ “ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการดังต่อไปนี้ ....
                          (๔)  ในกรณีที่ผู้กล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ไม่ใช่บุคคลตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้ประธานกรรมการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และให้ประธานกรรมการแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาสั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออก โดยให้ถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ....”
               มาตรา ๙๑ “เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า ข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป ข้อกล่าวหาใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลความผิด ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
                          (๑)  ถ้ามีมูลความผิดทางวินัย ให้ดำเนินการตามมาตรา ๙๒
                          (๒)  ถ้ามีมูลความผิดทางอาญา ให้ดำเนินการตามมาตรา ๙๗”
               มาตรา ๙๒ “ในกรณีมีมูลความผิดทางวินัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้ว มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดได้กระทำความผิดวินัย ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณี”
              คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.๑๐๓๗/๒๕๕๘ ลง ๒๗ ส.ค.๒๕๕๘  วินิจฉัยว่า
              “ข้อกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจไต่สวนและพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หมายถึงเฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เท่านั้น  โดยความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ถือเป็นมูลความผิดทางวินัย  ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ ๒ หมวด ๒  และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เป็นมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ ๓ หมวด ๒  ส่วนความผิดอื่นนอกจากสามกรณีดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวน  สำหรับความผิดทางวินัยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจในการไต่สวนและมีความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยได้เฉพาะความผิดทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่  ส่วนความผิดทางวินัยอื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนและมีความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยอีกและจะถือเอารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ ไม่ได้”
              ข้อพิจารณา
              ในเรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติว่า ข้าราชการตำรวจผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาสั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออก โดยให้ถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๘๐ (๔) ประกอบกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.๑๐๓๗/๒๕๕๘ วินิจฉัยว่า ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ถือเป็นมูลความผิดทางวินัย ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนและมีความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ดังนั้น ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่จึงถือเอารายงานการไต่สวนและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณีตามมาตรา ๙๑ (๑) และมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒
               เห็นว่า  ผบก.ที่เป็นผู้บังคับบัญชาในระดับจังหวัด มีอำนาจพิจารณาสั่งลงโทษ หรือตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเสนอเพื่อสั่งลงโทษ ปลดออก หรือไล่ออก ข้าราชการตำรวจที่กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษต่ำกว่าปลดออก ตามมาตรา ๗๒ (๔) และมาตรา ๙๐ แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ และกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๔๗