วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

ระเบียบ ตร. เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วย
การป้องกันและปราบปรามการทุจริต
พ.ศ.2546
……………………………….
                        ตามคำสั่ง กรมตำรวจ ที่ 9/2498 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2498 ให้ใช้ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2498 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2498 เรื่อง วางระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีไว้เป็นแนวทางปฏิบัติแล้ว นั้น
                        เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 อันเนื่องมาจากได้กระทำการตาม มาตรา 83 ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ เพื่อจะดำเนินการตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ในการนี้หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมิใช่กรณีตามมาตรา 88 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป” โดยกฎหมายดังกล่าวยังมิได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการดำเนินการของพนักงานสอบสวนไว้ จึงสมควรวางหลักเกณฑ์การปฏิบัติในเรื่องนี้ไว้เพื่อให้พนักงานสอบสวนสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
                        ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 แห่งข้อบังคับกระทรวงหมาดไทย ที่ 4/2499 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2499 ประกอบกับมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ  กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2541 ที่ให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยกเลิก แก้ไข เพิ่มเติมประมวลระเบียบการตำรวจ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับคดีและในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับคดี จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
                        ข้อ 1 ให้เพิ่มความที่แนบท้ายระเบียบนี้เป็น บทที่ 24 ลักษณะ 18 แห่งประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี
                        ข้อ 2 ให้ใช้ระเบียบนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
                                                        ประกาศ  ณ  วันที่  14  พฤษภาคม พ.ศ.2546
                                                                         พลตำรวจเอก    สันต์  ศรุตานนท์
                                                                                                ( สันต์  ศรุตานนท์ )
                                                                                          ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ      

ลักษณะ 18
กรณีบางเรื่องที่มีวิธีปฏิบัติเป็นพิเศษ
บทที่ 24
แนวทางการปฏิบัติในการดำเนินคดีความผิดตามกฎหมาย
ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
…………………………….
                        เพื่อให้การปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงวางระเบียบแนวทางการปฏิบัติไว้ดังต่อไปนี้
                        ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2546”
                        ข้อ 2. บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

                        ข้อ  3. ในระเบียบนี้
                        “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วงยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะบุคคล ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐ ในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ
                        “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หมายความว่า
                            (1)  นายกรัฐมนตรี
                            (2)  รัฐมนตรี
                            (3)  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
                            (4)  สมาชิกวุฒิสภา
                            (5)  ข้าราชการการเมืองอื่นนอกจาก (1) และ (2) ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง
                            (6)  ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา
                            (7)  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
                            (8)  ผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลนคร
                            (9)  ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีรายได้หรืองบประมาณไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                        “ผู้เสียหาย” หมายความว่า ผู้เสียหายจากการกระทำอันเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
                        “ผู้ถูกกล่าวหา” หมายความว่า ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการอันเป็นมูลที่จะนำไปสู่การถอดถอนจากตำแหน่ง การดำเนินคดีอาญา การขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หรือการดำเนินการทางวินัย ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และให้หมายความรวมถึงตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำดังกล่าวด้วย
                        “ทุจริตต่อหน้าที่” หมายความว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่มิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
                        “ร่ำรวยผิดปกติ” หมายความว่า การมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่
                        ข้อ 4. ในกรณีที่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมิใช่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกินสองปี ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการดังนี้
                            4.1  สอบสวนปากคำผู้ร้องทุกข์หรือผู้กล่าวโทษแล้วบันทึกการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษในสมุดรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี โดยไม่ต้องบันทึกการรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษในสมุดสารบบการดำเนินคดีอาญาทั่วไป
                            4.2  ดำเนินการสอบสวนพยานบุคคลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี และรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เพื่อประกอบคดี
                            4.3  ตรวจสอบว่าผู้ถูกกล่าวหามีชื่อ สกุล เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีตำแหน่งหน้าที่ราชการสังกัดใด พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วตั้งแต่เมื่อใด
                            4.4  ให้พิจารณาคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษนั้น ได้กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ในฐานความผิดใด
                            4.5  เมื่อดำเนินการตาม 4.1 - 4.4 แล้วให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษหากพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วปรากฏว่าไม่เป็นคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ หรือไม่มีการกระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 13 บทที่ 3 เรื่องคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษโดยเคร่งครัด ด้วยการลงรายงานประจำวันชี้แจงหลักกฎหมายไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งให้ผู้แจ้งความทราบ
                        ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ให้พนักงานสอบสวนชี้แจงแนะนำผู้เสียหายทราบว่า ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ได้กำหนดให้   ผู้เสียหายไปยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยตรง และให้พนักงานสอบสวนบันทึก การดำเนินการดังกล่าวในรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานด้วย
                        ข้อ 5. ในระหว่างที่พนักงานสอบสวนยังมิได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการ หากผู้ถูกกล่าวหาเข้าหาพนักงานสอบสวนเองหรือผู้ที่มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ถูกกล่าวหา ให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดว่าผู้นั้นเป็นผู้ถูกกล่าวหา แล้วดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 โดยให้ถามชื่อตัว นามสกุล ชาติบังคับ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งข้อหาให้ทราบ และต้องบอกให้ทราบก่อนว่าถ้อยคำที่กล่าวนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันเขาในการพิจารณาได้ เมื่อเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้ เมื่อพนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว อำนาจของพนักงานสอบสวนย่อมสิ้นสุดลง ดังนั้น อำนาจในการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาหรือสัญญาประกันกรณีที่มีการปล่อยตัวชั่วคราวย่อมสิ้นสุดลงเช่นเดียวกันและให้ปล่อยตัวหรือขอให้ศาลปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาไปในทันที        
                         ในกรณีที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความผิดดังกล่าวข้างต้น ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด โดยรวมเป็นสำนวนเดียวกันเพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป
                        ข้อ 6. เนื่องจากความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่และพนักงานสอบสวนปฏิบัติตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 18 บทที่ 21 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยเคร่งครัดอีกส่วนหนึ่งด้วย
                        ข้อ 7. เมื่อได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ต่อมาปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องคืนมาให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ จึงบันทึกการรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษลงในสมุดสารบบการดำเนินคดีอาญาทั่วไปแล้วรีบสอบสวนต่อไปโดยมิชักช้า

             (ที่มา.- ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2546 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2546)

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  รวมกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต